วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถือเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองไว้ในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐาน และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสะท้อนถึงธรรมาภิบาลและความเป็นประชาธิปไตยของประเทศหรือองค์กรนั้นๆ เพราะผู้ปกครองที่เปิดใจกว้างยอมรับฟังความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน หรือคนในองค์กรทั้งด้านบวกและด้านลบแล้ว ย่อมเป็นโอกาสในการนำไปปรับปรุงประเทศ องค์กร และตนเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป 

หน่วยงานภาครัฐ และนักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการถือเป็นบุคคลสาธารณะ (Public figure) กล่าวคือเป็นบุคคลที่ให้บริการสาธารณะหรือเกี่ยวข้องกับประชาชนในฐานะที่เป็นข้าราชการประจำ เช่น ข้าราชการฝ่ายปกครอง ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการครู หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สังกัดส่วนราชการต่างๆ เพราะนโยบายหรือการปฏิบัติงานของเขากระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนโดยทั่วไป การเป็นองค์กรและบุคคลสาธารณะประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์โดยชอบตามขอบเขตที่กฎหมายกำหนด และหน่วยงาน/บุคคลก็มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะชี้แจงให้ผู้แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์นั้นรับทราบข้อเท็จจริงตามที่เห็นสมควร

แต่การแสดงความคิดเห็นใดๆ ก็พึงระวังให้การแสดงความเห็นเป็นไปโดยชอบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.. 2550 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองไว้ในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยคำนึงว่าความคิดเห็น ที่แสดงออกไปนั้น โดยเฉพาะที่แสดงผ่านทางเว็บไซต์ควรงดเว้น การใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ 

แหล่งที่มา

กรณีศึกษา:อียู จัดเสวนา ศึกษากรณี มาตรา 112

สหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย จัดเสวนา "การสร้างความปรองดองและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" โดยยกกรณีกฎหมายอาญามาตรา 112 ในการตัดสินคดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ขึ้นมาแสดงความคิดเห็น

นายเดวิด ลิปแมน หัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย กล่าวว่าการจัดงานเสวนาครั้งนี้ เพื่อแสวงหาความร่วมมือกับประเทศไทยในการยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งถือว่าเป็นหลักการสากล ที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยประเทศไทย ก็ได้แสดงท่าทีที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับสิทธิเสรีภาพในประเทศ จึงเกิดเป็นความร่วมมือกันในครั้งนี้ขึ้นมา
หัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย ยืนยันว่าไม่ได้มีภารกิจที่จะแทรกแซงกิจการภายในของไทย แต่ต้องการเน้นการแสวงหาความร่วมมือ โดยต้องการส่งเสริมการพูดคุยและถกเถียง เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นให้มากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยสหภาพยุโรป ซึ่งมีประเทศสมาชิกหลายประเทศ เคยผ่านประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหาเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมาก่อน จึงยินดีที่จะร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิเสรีภาพในประเทศไทยร่วมกัน
 ด้านนายประวิทย์ โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส สำนักพิมพ์เนชั่น แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีกฎหมายอาญามาตรา 112 ถึงการตัดสินคดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งเพิ่งถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 11 ปี โดยเห็นว่า กรณีที่องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ รวมถึงสภาพยุโรป แสดงความกังวลมานั้น เป็นเพราะการตัดสินครั้งนี้ กระทบต่อสถานะของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างมาก

ทั้งนี้ ในการเสวนาได้มีการอภิปรายกันถึงความสำคัญของสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งมีแนวโน้มถดถอยลง จากการถูกปิดกั้น แทรกแซง รวมถึงการดำเนินคดีต่อการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยอาศัยกฎหมายพิเศษเช่นกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น